โรคงูสวัด

โรคงูสวัด เป็นโรคที่แสดอาการเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้มีโรคประจำตัว ที่เราเห็นกันทั่วไปคือคนที่เป็นโรคนี้จะมีตุ่มขึ้นเป็นแนวยาวบริเวณผิวหนัง มีอาการแสบคัน จะรุนแรงกว่าอีสุกอีใส ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องโรคงูสวัดได้ ในบทความนี้จะมาพูดถึงอาการของโรคงูสวัด รวมถึงสาเหตุ การป้องกัน และวิธีการรักษาโรคงูสวัด

โรคงูสวัด

โรคงูสวัด คืออะไร

โรคงูสวัด (Herpes Zoster/Shingles) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยจะแสดงอาการออกมาเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มของผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง หรือผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ งูสวัด เป็นโรคที่พบได้ทั่วไป และสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคงูสวัดได้

สาเหตุของโรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Herpes Zoster/Shingles) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella zoster virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส ผ่านทางการหายใจหรือสัมผัสกับตุ่มน้ำใสโดยตรง โดยหลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังคงซ่อนตัวอยู่บริเวณปมประสาทของร่างกายไปได้อีกนานหลายปีโดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงต่ำกว่าปกติ เชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่จะแบ่งตัวทำให้เส้นประสาทอักเสบและมีอาการของโรคงูสวัดได้ทันที

โรคงูสวัดแตกต่างจากโรคอีสุกอีใส โดยลักษณะของผื่นหรือตุ่มจะขึ้นพาดเป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเหมือนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส โดยผื่นจะขึ้นเฉพาะตามแนวของเส้นประสาทที่ไวรัส วาริเซลลา ซ่อนตัวอยู่ โดยจะเริ่มจากการเกิดผื่นแดงก่อน แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มนูน ใส บวม แล้วจึงจะแตกและตกสะเก็ดไปในที่สุด โดยบริเวณที่มักเกิดโรคงูสวัด ได้แก่ บริเวณรอบเอว หรือแนวชายโครง บริเวณหลัง บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า และดวงตา อาการจะรุนแรงกว่าอาการของโรคอีสุกอีใส และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ได้หากไม่รีบรักษา

อาการของโรคงูสวัด

  • มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด
  • ผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นมักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วไป เหมือนตุ่มในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า
  • ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
  • หลังผื่นหายยังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

อาการของโรคงูสวัดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • ตาสู้แสงไม่ได้

การรักษาโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผื่นแสดงอาการ โดยหากปรากฎผื่นน้อยกว่า 3 วัน แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (Antivirus) เช่น Acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ เพื่อช่วยลดการอักเสบ อาการเจ็บปวด และช่วยให้ผื่นคันยุบตัวและหายเร็วขึ้น รวมถึงช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด เช่น อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia, PHN) แต่หากผู้ป่วยมีผื่นของโรคงูสวัดเกินกว่า 3 วัน แพทย์จะพิจารณยารักษาโรคชนิดอื่น ๆ ร่วมกับยาต้านไวรัส ได้แก่

  • ยาพาราเซตามอล หรือปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการคัน และบรรเทาอาการเจ็บปวดและป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาที่แพทย์สั่งทาบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แผลหายช้า หรือกลายเป็นแผลเป็นไปในที่สุด
  • ไม่ควรเกาบริเวณผื่นคัน หากเล็บยาว ให้ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ให้สะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
  • หากมีแผลเปิด ให้ปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หมั่นล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันโรคงูสวัด

โรคงูสวัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค ทั้งยังช่วยลดความรุนแรง ลดความปวด และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไปก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้ในอนาคต ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโรคงูสวัดได้เช่นกัน โดยวัคซีนมีดังต่อไปนี้

  1. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือโรคสุกใส (Chickenpox vaccine) สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 – 18 เดือนขึ้นไป
  2. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสำหรับผู้ใหญ่ (Zoster vaccine/Shingles vaccine) มี 2 ชนิด ได้แก่
  • วัคซีน Zostavax ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) 1 เข็ม โดยเป็นวัคซีนที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 50 – 59 ปีได้ถึง 69.8%
  • วัคซีน Shingrix ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไกลโคโปรตีน (glycoprotein subunit vaccine) ที่เป็นชิ้นส่วนของไวรัส 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 2-6 เดือน โดยเป็นวัคซีนที่สามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 90 – 97%

โรคงูสวัด

วัคซีนป้องกันงูสวัด

ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคงูสวัดทำให้เกิดผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ที่ทำให้รู้สึกเจ็บแสบ ไม่สบายตัว และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการของโรคจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้หายจากโรคโดยเร็ว

โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนป้องกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและคงไว้ซึ่งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย ทั้งนี้บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคสามารถเข้ารับคำปรึกษา และฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจากแพทย์ผู้ชำนาญการได้จากสถานประกอบการหรือโรงพยาบาลที่มีวัคซีนไว้คอยบริการ

บทสรุป

งูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย เป็นความเชื่อที่ไม่จริง ในผู้ป่วยบางราย ผื่นของงูสวัดสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ด้าน ทั้งซ้าย และขวา จนทำให้ดูเหมือนว่างูสวัดพันรอบตัว แต่โดยมากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคงูสวัด จะเสียชีวิตจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด การติดเชื้อโรคงูสวัดจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเสียชีวิตไปในที่สุด โดยอาการดังกล่าวพบมากในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

 

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

ที่มาของบทความ

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  kempaonline.com

สนับสนุนโดย  ufabet369